ประวัติโดยย่อ
ชาวประมงจากมณฑลฝูเจี้ยนและชาวนาจากมณฑลกวางตุ้งเป็นกลุ่มแรกๆ ที่มาตั้งรกราก ในมาเก๊าซึ่งเมื่อก่อนใช้ชื่อว่าโอหมูน หรือ “ประตูแห่งการค้าขาย” เนื่องจากเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ ณ ปากแม่น้ำจูเจียงหรือแม่น้ำไข่มุกหรือแม่น้ำเพิร์ลทางตอนใต้ของมณฑลกวางเจา (แคนทอน) ในอดีตเมืองท่าเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมซึ่งที่นี่จะมีเรือบรรทุกไหมเพื่อที่จะนำไปส่ง ที่กรุงโรม
แม้ว่าหลังจากที่ประเทศจีนไม่ได้เป็นศูนย์กลางการค้าของโลกอีกต่อไปแล้วแต่กวางเจายังคงรุ่งเรืองจากธุรกิจทางทะเลกับประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นผู้ประกอบการในท้องถิ่นจึงยินดีต้อนรับพ่อค้าและนักสำรวจชาวโปรตุเกส พวกเขาเดินทางตามรอยของ จอร์จ อัลวาเรส ซึ่งขึ้นฝั่งในทางตอนใต้ของประเทศจีนในปี ค.ศ. 1513 และเริ่มหาจุดค้าขาย ที่เหมาะสม
ใช่ช่วงต้นปี ค.ศ. 1550 ชาวโปรตุเกสเดินทางมาโอหมูนซึ่งคนในพื้นที่เรียกว่า อาม่าเก๊า “สถานที่ของอาม่า” เพื่อเป็นเกียรติกับเทพธิดาแห่งชาวเรือซึ่งมีวัดตั้งอยู่ ณ ทางเข้าท่าเรือ ด้านใน ชาวโปรตุเกสนำชื่อดังกล่าวไปใช้ซึ่งค่อยๆ เปลี่ยนเป็นมาเก๊า และหลังจากที่ได้รับอนุญาตจากขุนนางจีนในกวางตุ้ง ชาวโปรตุเกสได้ก่อตั้งเมืองขึ้นมาซึ่งภายในระยะเวลาอันสั้น ก็ได้กลายเป็นคลังสินค้าสำหรับการค้าระหว่างจีน ญี่ปุ่น อินเดีย และยุโรป
มาเก๊ายังกลายเป็นชุมทางที่สมบูรณ์แบบสำหรับการมาบรรจบกันของวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตก โบสถ์โรมันคาทอลิกได้ส่งผู้สอนศาสนาที่เก่งที่สุดไปสานต่องานของ เซนต์ ฟรังซิส เซเวียร์ (ที่เสียชีวิตอยู่ในละแวกนั้นหลังจากที่ได้เปลี่ยนศาสนาของคนในท้องที่ได้หลายคน ในญี่ปุ่น) วิทยาลัยคริสเตียนถูกสร้างขึ้นข้างๆ สถานที่ที่ทุกวันนี้เราเรียกว่าซากประตูโบสถ์เซนต์ปอล ซึ่งเป็นสถานที่ที่นักศึกษา เช่น แม็ททีโอ ริชชี เตรียมงานในฐานะที่เป็นนักวิชาการชาวคริสต์ ณ พระราชสำนักในกรุงปักกิ่ง โบสถ์อื่นๆ ถูกสร้างขึ้นมา รวมถึงป้อมปราการต่างๆ ที่ทำให้เมืองมีรูปลักษณ์ในอดีตที่มาจากทางยุโรปที่ทำให้มาเก๊าแตกต่างไปจากเมืองอื่นๆ ในทุกวันนี้
ยุคทองของโปรตุเกสในทวีปเอเชียค่อยๆ หายไปในขณะที่คู่แข่งเช่นชาวดัตช์และชาวอังกฤษเข้ามายึดการค้าขายของชาวโปรตุเกส อย่างไรก็ตามชาวจีนยังคงเลือกที่จะทำธุรกิจผ่านชาวโปรตุเกสในมาเก๊า ดังนั้นบริษัท British East India และบริษัทอื่นๆ ได้เข้ามาก่อตั้งร้านที่นี่เป็นระยะเวลานานกว่าหนึ่งศตวรรษในบ้านเช่าเช่น Casa Garden ที่งดงาม ในขณะที่การค้าของยุโรปกับจีนเติบโต พ่อค้าชาวยุโรปใช้ชีวิตอยู่ในกวางเจา ซื้อใบชาและของฟุ่มเฟือยของชาวจีนที่งานแฟร์ที่จัดขึ้นปีละสองครั้งโดยใช้มาเก๊าเป็นสถานที่พักผ่อน
หลังจากสงครามฝิ่นในปี ค.ศ. 1841 อังกฤษได้ก่อตั้งฮ่องกงขึ้นมา และพ่อค้าต่างชาติส่วนมากย้ายออกไปจากมาเก๊าซึ่งกลายเป็นเมืองที่มีเสน่ห์แบบโบราณและเป็นเมืองที่เงียบๆ ที่ไม่มีการพัฒนาใดๆ แต่อย่างไรก็ตามมาเก๊ายังคงเป็นเมืองที่มีหลากหลายวัฒนธรรมที่มีความเป็นอยู่แบบสบายๆ และมีการใช้อาคารในประวัติศาสตร์ทุกวันที่กลายเป็นสถานที่ที่นักเดินทาง นักเขียน และศิลปินจากนานาประเทศชอบแวะมาเยี่ยมชม
ในอดีตมาเก๊าได้พัฒนาอุตสาหกรรม เช่น สิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ และของเล่น ในขณะที่ทุกวันนี้มาเก๊าได้สร้างอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระดับโลกที่มีโรงแรม รีสอร์ท สิ่งอำนวยความสะดวก MICE ร้านอาหาร และบ่อนคาสิโนให้เลือกมากมาย เศรษฐกิจของมาเก๊าเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจของฮ่องกงและมณฑลกวางตุ้งอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในเขตปากแม่น้ำเพิร์ล ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนึ่งใน “เสือน้อย” แห่งทวีปเอเชีย มาเก๊าให้บริการทางด้านการเงินและธนาคาร การอบรมพนักงาน การสนับสนุนด้านการขนส่งและการสื่อสาร
ทุกวันนี้มาเก๊าเป็นเขตปกครองพิเศษของสาธารณรัฐประชาชนจีน และเช่นเดียวกับฮ่องกง มาเก๊าได้รับประโยชน์จากหลักการของ “หนึ่งประเทศสองระบบ” เขตปกครองพิเศษเล็กๆ อย่างมาเก๊ากำลังเติบโต มีการสร้างอาคารเพิ่มมากขึ้นบนพื้นที่ที่ได้จากการถมทะเล และจำนวนสถานที่ท่องเที่ยวก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นและมีความหลากหลายมากขึ้นด้วย สิ่งเหล่านี้กลายเป็นสังคมของมาเก๊าที่แตกต่างไปจากที่อื่นๆ โดยที่มีชุมชนจากตะวันออกและตะวันตกเติมเต็มซึ่งกันและกัน และนักท่องเที่ยวทั้งหลายที่เดินทางมามาเก๊า